อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ปรับขนาดตัวอักษร
ภาษา
วันเดียวเที่ยวพัทลุง
วัดเขียนบางแก้ว
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

  วัดเขียนบางแก้ว วัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒ บ้านบางแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีชื่อเรียกกันมาหลายชื่อซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา อาทิ วัดพระธาตุบางแก้ว วัดตะเขียนบางแก้ว วัดบางแก้ว แต่ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารมีชื่อเรียกขานกันว่า “วัดเขียนบางแก้ว” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของโคกเมืองมีคลองบางหลวง หรือคูเมืองกั้นกลาง ในบรรดาวัดเก่าแก่ในจังหวัดพัทลุงถือว่าวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔) ตามตำนานเรื่องเล่าพื้นเมืองหลาย ๆ ตำนาน เช่น ตำนานเพลาวัด ได้กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วไว้ว่านางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้ โดยได้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่า เพลาวัดกล่าวไว้ว่าวัดเขียนบางแก้ว สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๒ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๓ เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ หรือตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้วของพระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีเดือน  ๘  ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒ (จ.ศ. ๓๐๑) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๑๔๘๖ แต่ในทำเนียบวัดของจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่าวัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๒   

       สำหรับตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน ตอนต้นกล่าวถึงสงครามในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้ชาวอินเดียอพยพหนีภัยมาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู บริเวณเมืองท่าปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วข้ามแหลมมายังอำเภอตะโหนด และอำเภอปากพะยูน ขณะนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ชาวบ้านพระเกิดเป็นนายกองช้างไม่มีบุตร จึงเดินทางไปขอบุตรีชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตง บ้านตะโหมด นำมาเลี้ยงไว้ชื่อว่านางเลือดขาว เพราะเป็นคนผิวขาวกว่าชาวพื้นเมืองต่อมาได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่เสรี่ยง ให้ชื่อว่ากุมารหรือเจ้าหน่อ เมื่อทั้งสองเจริญวัย ตายายจึงให้แต่งงานกัน แล้วอพยพไปตั้งบ้านที่บางแก้ว เมื่อตายายถึงแก่กรรมทั้งสองก็ได้นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ หลังจากนั้นทั้งสองได้สละทรัพย์ สร้างโบสถ์ วิหาร ในวัดเขียนบางแก้ว และวัดสทิง (สทัง) เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น และได้เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราชเพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดเขียนบางแก้ว และได้สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์วัดพระงามวัดถ้ำพระพุทธที่จังหวัดตรัง สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ หรือวัดเจ้าแม่อยู่หัว ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาวทราบไป ถึงกษัตริย์กรุงสุโขทัยจึงโปรดให้พระยาพิษณุโลก มารับนางเลือดขาวเพื่อชุบเลี้ยงเป็นมเหสี แต่นางมีครรภ์แล้วจึงไม่ได้ยกเป็นมเหสีเมื่อนางคลอดบุตรแล้ว ทรงขอบุตรไว้แล้วให้พระยาพิษณุโลก นำนางเลือดขาวกลับไปส่งถึงเมืองพัทลุง ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วไปก็เรียกนางว่าเจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว หรือนางพระยาเลือดขาวหรือพระนางเลือดขาว นางได้อยู่กินกับพระกุมารจนอายุได้ ๗๐ ปี ทั้งสองก็ถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายผู้เป็นบุตรได้นำศพไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่บ้านพระเกิด เส้นทางที่นำศพไปจากบ้านบางแก้วถึงบ้านพระเกิดเรียกว่าถนนนางเลือดขาว

       วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าในสมัยอยุธยาตอนกลางเมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูอุยงตะนะ (อุยงตะนะคือกลุ่มโจรสลัดมาเลย์จากเมืองยะโฮร์ที่ตั้งอยู่ปลายแหลมมลายู) อยู่บ่อยครั้ง บางครั้งพวกโจรสลัดได้เข้ามาเผาทำลายบ้านเรือนราษฎร์วัดวาอารามเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัดเขียนบางแก้วชำรุดทรุดโทรม และเป็นวัดร้างในบางครั้ง จนเมื่อผู้คนสามารถรวมตัวกันได้และตั้งเมืองขึ้นใหม่ก็ได้ทำการบูรณะวัดขึ้นอีก ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ได้กล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ ๆ ๒ ครั้ง คือครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนกลางระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๙-๒๑๑๑ ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะวัดคือเจ้าอินบุตรปะขาวกับนางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ครั้งที่ ๒ สมัยพระเพทราชา ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๔๒ ผู้นำในการบูรณะปฏิสังขรณ์ คือพระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง เมื่อท่านได้บูรณะแล้วจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ได้ร่วมทำการบูรณะได้รับการเว้นส่วยสาอากรให้กับทางราชการ จึงก็ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯตามที่ขอทุกประการ ด้วยเหตุจึงทำให้วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นศูนย์กลางของคณะป่าแก้วในสมัยอยุธยา มีคณะขึ้นกับคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงทั้งในเมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาและเมืองตรัง เป็นจำนวนกว่า  ๒๙๐-๒๙๘ วัด ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดเขียนบางแก้วก็กลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะ ต่อมาอีกหลายครั้งจนปัจจุบันวัดเขียนบางแก้วก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญ

       วัดเขียนบางแก้วกรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๔ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๐ และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๖๕ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๙ มีเนื้อที่ประมาณ  ๒๒  ไร่  ๒  งาน  ๙๗  ตารางวา